5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พรบ.รถยนต์ 

พรบ.รถยนต์คืออะไร ทำไมถึงต้องต่อพรบ.รถยนต์ คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นมากมายสำหรับบรรดาผู้ที่พึ่งซื้อรถ แม้กระทั่งผู้ที่มีรถอยู่แล้ว บางรายอาจจะยังไม่เข้าใจหรือมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับพรบ.รถยนต์ ทั้ง ๆ ที่พรบ.รถยนต์นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับทุกคนที่มีรถต้องมี เพราะเป็นประกันพรบ.รถยนต์รูปแบบหนึ่งที่ใช้ช่วยเหลือผู้ที่มีรถในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินจากการใช้รถใช้ถนน

ดังนั้นทิสโก้ออโต้แคชได้คัดสรรสาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับพรบ.รถยนต์เพื่อให้ผู้ที่มีรถยนต์ทั้งหลายได้ทำความเข้าใจและรู้จักคำว่า “พรบ.รถยนต์คืออะไร” ได้อย่างแท้จริง

1 พรบ.รถยนต์คืออะไร 

หากอธิบายความหมายของคำว่า พรบ.รถยนต์ หมายถึง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กฏระเบียบและข้อบังคับสำคัญที่กฎหมายบังคับใช้ให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะต้องดำเนินการต่อพรบ.รถยนต์ เพื่อใช้เป็นหลักประกันในกรณีฉุกเฉินที่รถทุกคันเกิดอุบัติเหตุ เพื่อประกันค่าชดเชยให้กับผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงคนเดินเท้า ในกรณีที่ได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

2 พรบ.รถยนต์กับภาษีรถยนต์เหมือนกันหรือไม่ 

ไม่เหมือนกันค่ะ พรบ.รถยนต์ คือกฎหมายการประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันจำเป็นต้องซื้อติดรถเอาไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขณะขับรถ พรบ.รถยนต์จะช่วยชำระค่าเสียหายให้ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนภาษีรถยนต์หรือการต่อทะเบียนรถยนต์นั้น จะต้องดำเนินการในทุก ๆ ปีตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำเงินภาษีปรับปรุงและพัฒนาการคมนาคมบนท้องถนน ซึ่งสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการต่อพรบ.รถยนต์และการต่อภาษีรถยนต์คือเรื่องเดียวกัน เพราะขั้นตอนการดำเนินการต่ออายุของ 2 ฉบับนี้ จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป หากคุณไม่ได้ต่อพรบ.รถยนต์เอาไว้ก่อนหน้าจะไม่สามารถต่อในส่วนของภาษีรถยนต์ได้ค่ะ 

3 พรบ.รถยนต์คุ้มครองในเรื่องใด  

การคุ้มครองประกันภัยภาคบังคับจากพรบ.รถยนต์ ทั้งหมด 2 กรณี ได้แก่

1. ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกหรือผิด

  • กรณีได้รับบาดเจ็บ จะได้รับเงินตามค่ารักษาพยาบาลจริงสูงสุด ไม่เกิน 30,000 บาท
  • กรณีถึงแก่ชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร จะได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท
  • กรณีถึงแก่ชีวิต หลังจากได้รับการรักษาพยาบาลแล้ว จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท ทั้งสิ้นรวมแล้วต้องไม่เกิน 65,000 บาท

2. ค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เงินชดเชยสำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายถูก หลังจากการพิสูจน์ฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกผิดแล้ว

  • ค่ารักษาพยาบาล จะได้รับเงินตามค่ารักษาจริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ จะแบ่งออกเป็น 3 กรณีได้แก่     

                    2.1 การสูญเสียมือ ตั้งแต่ข้อมือหรือแขน การสูญเสียเท้า ตั้งแต่ข้อเท้าหรือขา การสูญเสียการมองเห็น (ตาบอด) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งรวมกันตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป จะได้รับค่าชดเชย                   จำนวน 300,000 บาท

                    2.2 การสูญเสียมือ ตั้งแต่ข้อมือหรือแขน การสูญเสียเท้า ตั้งแต่ข้อเท้าหรือขา  การสูญเสียการมองเห็น (อาการตาบอดสนิทที่ไม่สามารถกลับมามองเห็นได้อีก) การสูญเสียการได้ยิน                   การสูญเสียการพูดหรือลิ้นขาด (หูหนวกเป็นใบ้) การสูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ การเกิดจิตพิการอย่างติดตัว หรือเสียอวัยวะอื่นใด ค่าชดเชย จำนวน                           250,000 บาท

                    2.3 การสูญเสียนิ้ว ตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่าจะในกรณีเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว ค่าชดเชย จำนวน 200,000 บาท

  • ค่าชดเชย กรณีผู้ป่วยใน 200 บาทต่อวัน แต่ต้องไม่เกิน 20 วัน

4 หากไม่ได้ทำประกันพรบ.รถยนต์จะเกิดอะไรขึ้น 

ถ้าคุณเลือกที่จะไม่ต่อประกันพรบ.รถยนต์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหล่ะก็ คุณจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายในการจ่ายค่าปรับ ในกรณีที่คุณขับรถยนต์ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของรถคันนั้นหรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถที่ไม่มีพรบ. คุณจะต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยด้วยตัวเองเพราะคุณจะไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ จากพรบ.ทั้งสิ้น และที่สำคัญคุณจะไม่สามารถต่อภาษีหรือต่อทะเบียนรถยนต์ได้เพราะการจะต่อภาษี คุณจะต้องต่อพรบ.เสียก่อน ดังนั้น หากคุณรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมไปตรวจสอบว่าพรบ.รถยนต์ของคุณหมดอายุหรือยัง หรือรถของคุณมีพรบ.รถยนต์แล้วหรือไม่ หากรถยังไม่มีพรบ.หรือพรบ.หมดอายุ จะต้องรีบต่อโดยเร็วที่สุดนะคะ ไม่อย่างนั้นผลกระทบที่ตามมาอาจจะทำให้คุณคาดไม่ถึงเลยก็ได้ค่ะ

5 พรบ.รถยนต์ทำได้ที่ไหนบ้าง 

เมื่อคุณรู้ว่าพรบ.รถยนต์คืออะไร แต่ไม่รู้ว่าควรจะไปต่อพรบ.รถยนต์ได้จากแหล่งสถานที่ไหน เราขอแนะนำวิธีการต่อพรบ.รถยนต์สามารถทำได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

  • กรณีออนไลน์ คุณสามารถเข้าไปต่อพรบ.รถยนต์ได้ที่ กรมการขนส่งทางบก
  • กรณีออฟไลน์ คุณสามารถเดินทางไปต่อพรบ.ได้ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ที่ทำการไปรษณีย์ ห้างสรรพสินค้า และเคาน์เตอร์เซอร์วิสนะคะ 

หากทุกคนอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว คงทราบกันดีแล้วว่าพรบ.รถยนต์ คืออะไร และสิ่งนี้สำคัญขนาดไหน ดังนั้นนอกจากการใส่ใจดูแลรถยนต์คันโปรดของคุณแล้ว ก็อย่าลืมในเรื่องของความสำคัญในด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ของคุณด้วยนะคะ